ปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพ (Cardiopulmonary resuscitation : CPR)หมายถึง การช่วยเหลือผู้ที่หยุดหายใจหรือหัวใจหยุดเต้น ให้มีการหายใจและการไหลเวียนกลับคืนสู่สภาพเดิม ป้องกันเนื้อเยื่อได้รับอันตรายจากการขาดออกซิเจนอย่างถาวร ซึ่งสามารถทำได้โดยการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน (Basic lifesupport)ได้แก่ การผายปอด และการนวดหัวใจภายนอก
ขั้นตอนการช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR)
ภาวะหยุดหายใจและหัวใจหยุดเต้น
ภาวะหยุดหายใจ (respiratory arrest) และภาวะหัวใจหยุดเต้น (cardiac arrest) - เป็นภาวะที่มีการหยุดการทำงานของอวัยวะในระบบทางเดินหายใจและการไหลเวียนเลือด ส่วนมากมักจะพบว่ามีการหยุดหายใจก่อนเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้น และ ถ้าไม่ได้รับการช่วยเหลือที่ถูกต้อง จะทำให้เสียชีวิตได้
สาเหตุของการหยุดหายใจ
- ทางเดินหายใจอุดตันจากสาเหตุต่างๆ เช่น จากสิ่งแปลกปลอมอุดกั้นทางเดินหายใจ การแขวนคอ การถูกบีบรัดคอ การรัดคอ เป็นต้น ในเด็กเล็กสาเหตุจากการหยุดหายใจที่พบได้มากที่สุดคือ การสำลักสิ่งแปลกปลอมเข้าหลอดลม เช่น ของเล่นชิ้นเล็ก ๆ เมล็ดถั่ว เป็นต้น
- มีการสูดดมสารพิษ แก็สพิษ ควันพิษ
- การถูกกระแสไฟฟ้าแรงสูงดูด
- การจมน้ำ
- การบาดเจ็บที่ทรวงอก ทำให้ทางเดินหายใจได้รับอันตรายและเนื้อเยื่อได้รับบาดเจ็บ
- โรคระบบประสาท เช่น บาดทะยัก ไขสันหลังอักเสบ ทำให้กล้ามเนื้อหายใจเป็นอัมพาต
- การได้รับสารพิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย เช่น ผึ้ง ต่อ แตน ต่อยบริเวณคอ หน้า ทำให้มีการบวมของเนื้อเยื่อของทางเดินหายใจและหลอดลมมีการหดเกร็ง
- การได้รับยากดศูนย์ควบคุมการหายใจ เช่น มอร์ฟีน ฝิ่น โคเคน บาร์บิทูเรต ฯลฯ
- โรคหัวใจ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดไปเลี้ยงอย่างเฉียบพลัน
- มีการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ และมีภาวะหายใจวายจากสาเหตุต่างๆ
สาเหตุของหัวใจหยุดเต้น
- หัวใจวายจากโรคหัวใจ จากการออกกำลังกายมากเกินปกติ หรือตกใจหรือเสียใจกระทันหัน
- มีภาวะช็อคเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน จากการสูญเสียเลือดมาก ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือมีเลือดมาเลี้ยงไม่เพียงพอ
- ทางเดินหายใจอุดกั้น ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ
- การได้รับยาเกินขนาดหรือการแพ้
ข้อบ่งชี้ในการปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพ
1.ผู้ที่มีภาวะหยุดหายใจ โดยที่หัวใจยังคงเต้นอยู่ประมาณ 2-3 นาที ให้ผายปอดทันที จะช่วยป้องกันภาวะหัวใจหยุดเต้นได้ และช่วยป้องกันการเกิดภาวะเนื้อเยื่อสมองขาดออกซิเจนอย่างถาวร
2.ผู้ที่มีภาวะหยุดหายใจและหัวใจหยุดเต้นพร้อมกัน ซึ่งเรียกว่า clinical death การช่วยฟื้นคืนชีพทันทีจะช่วยป้องกันการเกิด biological death คือ เนื้อเยื่อโดยเฉพาะเนื้อเยื่อสมองขาดออกซิเจน ระยะเวลาของการเกิด biological death หลังจาก clinical death ยังไม่มีใครทราบแน่ชัด แต่โดยทั่วไป มักจะเกิดช่วง 4-6 นาที หลังเกิด clinical death ดังนั้นการปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพจึงควรทำภายใน 4 นาที
ลำดับขั้นในการปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพ
การปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพ ขั้นพื้นฐานประกอบด้วย 3 ขั้นตอนใหญ่สำคัญ คือ A B C ซึ่งต้องทำตามลำดับคือ
A - Airway : การเปิดทางเดินหายใจให้โล่ง
B - Breathing : การช่วยให้หายใจ
C - Circulation : การนวดหัวใจเพื่อช่วยให้เกิดเลือดไหลเวียนอีกครั้ง
1. A : Airway หมายถึง การเปิดทางเดินหายใจให้โล่ง ซึ่งเป็นการปฏิบัติการขั้นแรก ที่ต้องทำอย่างรวดเร็ว เพราะเนื่องจากโคนลิ้นและกล่องเสียงมีการตกลงไปอุดทางเดินหายใจส่วนบนในผู้ป่วยที่หมดสติ ดังนั้นจึงต้องมีการเปิดทางเดินหายใจให้โล่ง โดยการดัดคางขึ้นร่วมกับการกดหน้าผากให้หน้าแหงนเรียกว่า "head tilt chin lift"
1.1 การช่วยจัดทางเดินทางหายใจให้โล่ง และอยู่ในท่าที่จะให้การช่วยเหลือ ซึ่งทำได้โดย
- วางฝ่ามือบนหน้าผากผู้ป่วยและกดลง นิ้วชี้และนิ้วหัวแม่มือพร้อมที่จะเอื้อมมาอุดจมูกเมื่อจะผายปอด มือล่างใช้นิ้วกลางและนั้วชี้เชยคางขึ้น ดังภาพที่ ๑ ซึ่งวิธีนี้จะสามารถใช้ได้ในผู้บาดเจ็บที่มีกระดูกสันหลังส่วนคอหัก
- ใช้มือกดหน้าผากเหมือนวิธีแรก ส่วนมืออีกข้างหนึ่งช้อนใต้คอขึ้นวิธีนี้ทำได้ง่าย แต่ไม่ควรทำในผู้ที่ได้รับบาดเจ็บที่กระดูกสันหลังเพราะจะเกิดอันตรายต่อไขสันหลัง
- ใช้สันมือทั้งสองข้างวางบนหน้าผากกดลง แล้วใช้นิ้วชี้และนิ้วกลางจับกระโดงคาง (Mandible) ของผู้ป่วยขึ้นไปทางข้างหน้า ซึ่งผู้ทำ CPR นั่งคุกเข่าอยู่ทางศีรษะของผู้ป่วย ซึ่งวิธีนี้ทำได้ยาก แต่ช่วยให้ทางเดินหายใจโล่งดี
ถ้าการหยุดหายใจเกิดจากลิ้นตกไปอุดตันทางเดินหายใจผู้ป่วยจะหายใจได้เอง และในขั้นตอนการเปิดทางเดินหายใจนี้ควรใช้เวลา ๔ - ๑๐ วินาที
ภาพ ทางเดินหายใจที่เปิดและปิด
ภาพ head tilt chin lift
ในกรณีที่มีกระดูกสันหลังส่วนคอหัก หรือในรายที่สงสัย ควรใช้วิธี "jaw thrust maneuver" โดยการดึงขากรรไกรทั้งสองข้างขึ้นไปข้างบน ผู้ช่วยเหลืออยู่เหนือศีรษะผู้ป่วย
ภาพ jaw thrust maneuver
2. B : Breathing หมายถึง การช่วยหายใจ เนื่องจากการหายใจหยุด ร่างกายจะมีออกซิเจนคงอยู่ในปอดและกระแสเลือด แต่ไม่มีสำรองไว้ใช้ดังนั้น เมื่อหยุดหายใจ จึงต้องช่วยหายใจ เป็นวิธีที่จะช่วยให้ออกซิเจนเข้าสู่ปอดผู้ป่วยได้ ซึ่งออกซิเจนที่เป่าออกไปนั้นมีออกซิเจนประมาณ 16-17 % ซึ่งเพียงพอสำหรับใช้ในร่างกายการตรวจดูการหายใจ ซึ่งควรใช้เวลาเพียง ๓ - ๕ วินาที ซึ่งทำโดยคุกเข่าลงใกล้ไหล่ผู้ป่วย ผู้ให้การช่วยเหลือเอียงศีรษะดูทางปลายเท้าผู้ป่วย หูอยู่ชิดติดกับปากผู้ป่วยและฟังเสียงลมหายใจผู้ป่วย ตามองดูหน้าอกว่ามีการเคลื่อนไหวหรือไม่หรือใช้แก้มสัมผัสลมหายใจจากผู้ป่วย การหายใจเข้า เป็นการที่ปอดพองตัวรับอากาศภายนอกเข้าทรวงอกจากนั้นปอดจะบีบตัวเอาลมที่ใช้แล้วออกทำให้เห็นทรวงอกเคลื่อนลงเล็กน้อย ซึ่งการขยายขึ้นลงเป็นจังหวะสม่ำเสมอ และนับการหายใจหนึ่งครั้ง ซึ่งการหายใจน้อย (ตื้น) หรือไม่หายใจ จะต้องช่วยการหายใจในทันที โดยการที่ผู้ทำ CPR สูดหายใจเข้าเต็มที่แล้วเป่าเข้าสู่ผู้ป่วยโดย สามารถทำได้หลายวิธี คือ ด้วยการเป่าปาก (mouth to mouth) เป่าจมูก (mouth to nose) และวิธีการกดหลังยกแขนของโฮลเกอร์ - นิลสัน (back pressure arm lift or Holger - Nielson method) ทำได้ดังนี้
2.1 ปากต่อปาก ผู้ทำการช่วยฟื้นคืนชีพควรนั่งข้างใดข้างหนึ่ง ใช้นิ้วชี้และนิ้วหัวแม่มือของข้างที่กดศีรษะ บีบจมูกผู้ป่วยเพื่อไม่ให้อากาศรั่วออกขณะเป่าลมเข้าปาก มือข้างที่ยกคางประคองให้ปากเผยอเล็กน้อย ผู้ทำ CPR สูดหายใจเข้าปอดลึก ๆ ซัก 2-3 ครั้งเข้าเต็มที่ประกบปากครอบปากผู้ป่วยพร้อมเป่าลมเข้าเต็มที่ ด้วยความเร็วสม่ำเสมอประมาณ ๘๐๐ มิลลิลิตรต่อ ๑ ครั้ง เพื่อให้ปอดขยาย ขณะทำการช่วยเลหือควรสังเกตว่าทรวงอกขยายออกแสดงถึงอากาศผ่านเข้าไปได้ดีแล้วรีบถอนปาก รอให้ลมออกจากผู้ป่วย ซึ่งใช้เวลาประมาณ ๑-๑๕ วินาที แล้วเป่าซ้ำ
ภาพ การผายปอดด้วยวิธี Mouth to Mouth
2.2 ปากต่อจมูก การเป่าลมเข้าทางจมูกเป็นวิธีที่ดี กระทำได้เช่นเดียวกับการเป่าปาก ซึ่งในกรณีที่เปิดปากไม่ได้หรือมีแผลที่ปากหรือในเด็กเล็กให้ใช้มือด้านที่เชยคางยกขึ้นให้ปากปิดแล้วเป่าลมเข้าทางจมูกแทนโดยต้องใช้แรงเป่ามากกว่าปากเพราะมีแรงเสียดทานสูงกว่า
ภาพ การผายปอดด้วยวิธี Mouth to Nose
ขณะที่เป่าให้เหลือบมองยอดอกของผู้รับบริการด้วยว่ามีการยกตัวขึ้นหรือไม่ การเป่าลมหายใจของผู้ช่วยเหลือผ่านทางปากหรือจมูก จะต้องทำอย่างช้าๆ ปล่อยปากหรือผู้ช่วยเหลือออกจากปากหรือจมูกของผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยหายใจออก ให้ ผายปอด 2 ครั้ง ๆ ละ 1-1.5 วินาที (แต่ละครั้งได้ออกซิเจน 16 %) อัตราเร็วในการเป่า คือ 12 -15 ครั้ง / นาที ใกล้เคียงกับการหายใจปกติ
การตรวจชีพจรเพื่อประเมินการไหลเวียนโลหิต โดยคลำที่หลอดเลือดใหญ่ที่ตรวจง่าย คือหลอดเลือดแดงคาโรติด (อยู่ทางด้านข้างของลำคอนำเลือดไปเลี้ยงศีรษะ) โดยวางนิ้วโป้งและนิ้วกลางตรงช่องกระหว่างลูกกระเดือกหรือ Thyroid cartilage และกล้ามเนื้อคือ Sternomastoid สังเกต และนับจังหวะการเต้นของหลอดเลือด ถ้ามีชีพจรอยู่ในเกณฑ์ใช้ได้ แต่ไม่หายใจให้ช่วยเฉพาะการหายใจ ถ้าไม่มีชีพจรหรือมีแต่ช้ามาก เบามาก ให้ทำการช่วยการไหลเวียนต่อจากการช่วยหายใจทันทีโดยในการคลำชีพจรไม่ควรใช้เวลาเกินกว่า ๕ วินาที ซึ่งผู้ปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพควรฝึกหัดคลำชีพจนให้ชำนาญ
3. C : Circulation หมายถึง การนวดหัวใจภายนอก ทำในรายที่ประเมินภาวะหัวใจหยุดเต้น โดยการจับชีพที่ carotid artery แล้วไม่พบว่ามีการเต้นของชีพจร ก็จะช่วยให้มีการไหลเวียนของเลือดโดยการกดนวดหัวใจภายนอก (cardiac massage) โดยมีหลักการคือ กดให้กระดูกหน้าอก (sternum) ลงไปชิดกับกระดูกสันหลัง ซึ่งจะทำให้หัวใจที่อยู่ระหว่างกระดูกทั้งสองอัน ถูกกดไปด้วย ทำให้มีการบีบเลือดออกจากหัวใจไปเลี้ยงร่างกาย เสมือนการบีบตัวของหัวใจ
วิธีนวดหัวใจ
1. จัดให้ผู้ป่วยนอนหงายราบ บนพื้นแข็ง ถ้าพื้นอ่อนนุ่มให้สอดไม้กระดานแข็งใต้ลำตัว
2. วัดตำแหน่งที่เหมาะสำหรับการนวดหัวใจ โดยใช้นิ้วชี้และนิ้วกลางข้างที่ถนัด วาดจากขอบชายโครงล่างของผู้ป่วยขึ้นไป จนถึง ปลายกระดูกหน้าอก วัดเหนือปลายกระดูกหน้าอกขึ้นมา 2 นิ้วมือ แล้วใช้สันมือข้างที่ไม่ถนัดวางบนตำแหน่งดังกล่าว และใช้สันมือข้างที่ถนัดวางทับลงไป และเกี่ยวนิ้วมือให้นิ้วมือที่วางทับแนบชิดในร่องนิ้วมือของมือข้างล่าง (interlocked fingers) ยกปลายนิ้วขึ้นจากหน้าอก
3. ผู้ช่วยเหลือยืดไหล่และแขนเหยียดตรง จากนั้นปล่อยน้ำหนักตัวผ่านจากไหล่ไปสู่ลำแขนทั้งสองและลงไปสู่กระดูกหน้าอกในแนวตั้งฉากกับลำตัวของผู้เจ็บป่วยในผู้ใหญ่และเด็กโต กดลงไปลึกประมาณ 1.5 - 2 นิ้ว ให้กดลงไปในแนวดิ่ง และอย่ากระแทก
4. ผ่อนมือที่กดขึ้นให้เต็มที่เพื่อให้ทรวงอกมีการขยายตัว และหัวใจได้รับเลือดที่อุดมไปด้วยออกซิเจน ขณะที่ผ่อนมือไม่จำเป็นต้องยกมือขึ้นสูง มือยังคงสัมผัสอยู่ที่กระดูกหน้าอก อย่ายกมือออกจากหน้าอก จะทำให้มีเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ในร่างกาย และมีเลือดไหลกลับเข้าสู่หัวใจ ทำให้มีการไหลเวียนเลือดในร่างกาย
5. การกดนวดหัวใจจะนวดเป็นจังหวะสม่ำเสมอ ในอัตราเร็ว 100 ครั้ง/นาที ถ้าน้อยกว่านี้จะไม่ได้ผล
การส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลเป็นสิ่งที่สำคัญ ควรนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้และต้องเฝ้าประเมินสังเกตภาวะการเปลี่ยนแปลงของผู้ป่วยตลอดเวลา ในกรณีที่ต้องทำ CPR ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ควรติดตามผลโดยการหยุดทำ CPR เพื่อจับชีพจรทุก ๒ - ๓ นาที และไม่ว่าโดยเหตุผลใด ๆ ไม่ควรหยุดทำ CPR เกินกว่า ๕ วินาที ยกเว้นถ้าท่านเป็นผู้ทำ CPR เพียงคนเดียวและจำเป็นต้องโทรศัพท์เรียกรถพยาบาลมาช่วย
ตำแหน่งการวางมือ
ผู้ให้การช่วยฟื้นคืนชีพจะต้องใช้สันมือ (Heel of Hand) ข้างหนึ่งวางบนกระดูกหน้าอกโดยให้อยู่เหนือลิ้นปี่ประมาณ ๓ เซนติเมตร หรือสองนิ้วมือซึ่งกระทำโดยใช้นิ้วชี้และนิ้วกลางวางทาบลงบนกระดูกหน้าอก ให้นิ้วกลางอยู่ชิดลิ้นปี่ แล้วใช้สันมืออีกข้างหนึ่งวางทับลงไปโดยไม่ใช้ฝ่ามือแตะหน้าอกและเมื่อวางถูกตำแหน่งแล้วไม่ควรยกขึ้นหรือเคลื่อนที่ ซึ่งพบได้บ่อยในการฝึกปฏิบัติและทำให้การทำ CPR ไม่ได้ผลดี
ภาพ แสดงการวัดตำแหน่ง และการกดนวดหัวใจภาย
อันตรายของการทำ CPR ไม่ถูกวิธี
1. วางมือผิดตำแหน่ง ทำให้ซี่โครงหัก , xiphoid หัก , กระดูกที่หักทิ่มโดนอวัยวะสำคัญ เช่น ตับ ม้าม เกิดการตกเลือดถึงตายได้
2. การกดด้วยอัตราเร็วเกินไป เบาไป ถอนแรงหลังกดไม่หมด ทำให้ปริมาณเลือดไปถึงอวัยวะต่างๆ ที่สำคัญได้น้อย ทำให้ขาดออกซิเจน
3. การกดแรงและเร็วมากเกินไป ทำให้กระดูกหน้าอกกระดอนขึ้น ลงอย่างรวดเร็ว หัวใจช้ำเลือดหรือกระดูกหักได้
4. การกดหน้าอกลึกเกินไป ทำให้หัวใจชอกช้ำได้
5. การเปิดทางเดินหายใจไม่เต็มที่ เป่าลมมากเกินไป ทำให้ลมเข้ากระเพาะอาหาร เกิดท้องอืด อาเจียน ลมเข้าปอดไม่สะดวก ปอดขยายตัวไม่เต็มที่ ถ้ามีอาการอาเจียนเกิดขึ้นก่อน หรือ ระหว่างการทำ CPR ต้องล้วงเอาเศษอาหารออกก่อน มิฉะนั้นจะเป็นสาเหตุของ การอุดตันของทางเดินหายใจ (airway obstruction) การช่วยหายใจไม่ได้ผล เกิดการขาดออกซิเจน ถ้ามีอาการท้องอืดขึ้น ระหว่างการทำ CPR ให้จัดท่าเปิดทางเดินหายใจใหม่ และช่วยการหายใจด้วยปริมาณลมที่ไม่มากเกินไป
ขอขอบคุณภาพและข้อมูลที่มา http://www.mhhos.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น