นายจิตติ นภาวรรณ ม.6/7 เลขที่ 12
นายณัฐพงศ์ ตั้งหลักชัย ม.6/7 เลขที่ 15
นายรัฐกร ตันติสัตยกุล ม.6/7 เลขที่ 20
นายสิรวิชญ์ นิจถาวร ม.6/7 เลขที่ 23
วันอาทิตย์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2555
ชะ ชะ ช่า
ในบรรดาจังหวะเต้นรำแบบละตินอเมริกันที่มีอยู่ด้วยกัน 5 จังหวะนั้น ช่ะ ช่ะ ช่า เป็นจังหวะเต้นรำที่มีกำเนิดหลังสุด กล่าวคือเป็นจังหวะที่รับการพัฒนามาจากจังหวะแมมโบ้ ( MAMBO) ซึ่งในอดีตเรียกชื่อจังหวะนี้เต็มๆ ว่า แมมโบ้ ช่ะ ช่ะ ช่า ต้นกำเนิดมาจากคิวบันการเปลี่ยนแปลงนี้เกิดจากอิทธิพลของดนตรีที่พัฒนาไป ทำให้การเต้นรำพัฒนาตามไปด้วย
ต้นกำเนิดของ ช่ะ ช่ะ ช่า เริ่มในปี ค.ศ. 1950 ขณะที่ดนตรีของคิวบันได้รับความนิยมอยู่ในอังกฤษนั้นได้มีเพลงจังหวะสวิง ( SWING) ซึ่งเกิดใหม่และนิยมกันมากเข้ามามีบทบาทแทรกแซงผสมผสานกับดนตรีของคิวบัน ทำให้เพลงของคิวบันที่เคยมีลักษณะนุ่มนวลเปลี่ยนเป็นเร็วขึ้น เครื่องดนตรีที่ใช้เคาะจังหวะเริ่มเล่นพลิกแพลงผิดเพี้ยนออกไป เริ่มเคาะให้ไม่ลงจังหวะ ( OFF BEAT) สไตล์ของดนตรีที่พัฒนามานี้จึงได้ชื่อว่า “ แมมโบ้ ” และมีการสาธิตเต้นรำจังหวะแมมโบ้ ในการประชุมนานาชาติเกี่ยวกับการเต้นรำ แบบบอลรูมที่แบลคพูลประเทศอังกฤษ ( INTERNATIONAL DANCE CONGRESS IN BLACKPOLL) รูปแบบการเต้นแมมโบ้พื้นฐานก็คือ ก้าวออกไปข้างหน้า 1 ก้าว แล้วถอยกลับ 2 ก้าว จากนั้นถอยหลัง 1 ก้าว แล้วก้าวไปข้างหน้า 2 ก้าว (ก้าวที่ 2 ย้ำอยู่กับที่) แมมโบ้ได้รับความนิยม ทั้งเพลงและการเต้นอย่างมากในอเมริกาและยุโรป ต่อมาแมมโบ้ได้พัฒนาจากที่เคยเร็วให้ช้าลงสำหรับการเต้นจากแมมโบ้ที่เคยเต้นเดินหน้า 3 ก้าวและถอยหลัง 3 ก้าวก็เพิ่มการชิดเท้าไล่กันไปข้างหน้า 2 ก้าว และชิดเท้าไล่กันไปข้างหลัง 2 ก้าว ซึ่งเป็นรูปแบบของ ช่ะ ช่ะ ช่า ในปัจจุบันที่ได้รับความนิยมแพร่หลายไปทั่วโลก
การเต้นรำจังหวะ ช่ะ ช่ะ ช่า นี้ได้เข้ามาสู่ประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2498 โดยชาวฟิลิปปินส์ ชื่อ มิสเตอร์เออร์นี่ นักดนตรีของวง “ ซีซ่า วาเลสโก ” ได้นำลีลาการเต้น ช่ะ ช่ะ ช่า และการเขย่ามาลากัส (ลูกแซ็ก) มาประกอบเพลงเข้าไปด้วย ซึ่งลีลาการเต้นนี้เป็นที่ประทับใจบรรดานักเต้นรำและครูสอนลีลาศทั้งหลาย จึงได้ขอให้มิสเตอร์เออร์นี่สอนให้ การเต้น ช่ะ ช่ะ ช่า ตามแบบของมิสเตอร์เออร์นี่จึงถูกถ่ายทอดและมีอิทธิพลมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าในภายหลังได้มีการนำรูปแบบการเต้นที่ถูกต้องตามมาตรฐานสากลเข้ามาแทนที่แล้วก็ตาม
ดนตรีและการนับจังหวะ
- ดนตรีของจังหวะ ช่ะ ช่ะ ช่า มีท่วงทำนองที่สนุกสนานเร้าใจ และมีจังหวะเน้นเด่นชัดดนตรีจะเป็นแบบ 4/4 เหมือนกับจังหวะคิวบ้ารัมบ้า คือ ใน 1 ห้องมี 4 จังหวะ
- การนับจังหวะสามารถนับได้หลายวิธี เช่น หนึ่ง- สอง – สามสี่ – ห้า หรือ หนึ่ง – สอง ช่ะ ช่ะ ช่า หรือนับก้าวจนครบตามจำนวนลวดลายพื้นฐาน หรือนับตามหลักสากลคือ นับตามจังหวะของดนตรี คือ สอง – สาม – สี่ และ – หนึ่ง โดยที่ก้าวแรกตรงกับจังหวะที่ 2 ของห้องเพลง
ความเร็วช้าของจังหวะดนตรี
ดนตรีของจังหวะ ช่ะ ช่ะ ช่า บรรเลงด้วยความเร็วมาตรฐาน 32 ห้องเพลงต่อนาที (30 – 40 ห้องเพลงต่อนาที)
Credit : http://www.thaigoodview.com/node/50609
ปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพ (Cardiopulmonary resuscitation : CPR)
ปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพ (Cardiopulmonary resuscitation : CPR)หมายถึง การช่วยเหลือผู้ที่หยุดหายใจหรือหัวใจหยุดเต้น ให้มีการหายใจและการไหลเวียนกลับคืนสู่สภาพเดิม ป้องกันเนื้อเยื่อได้รับอันตรายจากการขาดออกซิเจนอย่างถาวร ซึ่งสามารถทำได้โดยการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน (Basic lifesupport)ได้แก่ การผายปอด และการนวดหัวใจภายนอก
ขั้นตอนการช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR)
ภาวะหยุดหายใจและหัวใจหยุดเต้น
ภาวะหยุดหายใจ (respiratory arrest) และภาวะหัวใจหยุดเต้น (cardiac arrest) - เป็นภาวะที่มีการหยุดการทำงานของอวัยวะในระบบทางเดินหายใจและการไหลเวียนเลือด ส่วนมากมักจะพบว่ามีการหยุดหายใจก่อนเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้น และ ถ้าไม่ได้รับการช่วยเหลือที่ถูกต้อง จะทำให้เสียชีวิตได้
สาเหตุของการหยุดหายใจ
- ทางเดินหายใจอุดตันจากสาเหตุต่างๆ เช่น จากสิ่งแปลกปลอมอุดกั้นทางเดินหายใจ การแขวนคอ การถูกบีบรัดคอ การรัดคอ เป็นต้น ในเด็กเล็กสาเหตุจากการหยุดหายใจที่พบได้มากที่สุดคือ การสำลักสิ่งแปลกปลอมเข้าหลอดลม เช่น ของเล่นชิ้นเล็ก ๆ เมล็ดถั่ว เป็นต้น
- มีการสูดดมสารพิษ แก็สพิษ ควันพิษ
- การถูกกระแสไฟฟ้าแรงสูงดูด
- การจมน้ำ
- การบาดเจ็บที่ทรวงอก ทำให้ทางเดินหายใจได้รับอันตรายและเนื้อเยื่อได้รับบาดเจ็บ
- โรคระบบประสาท เช่น บาดทะยัก ไขสันหลังอักเสบ ทำให้กล้ามเนื้อหายใจเป็นอัมพาต
- การได้รับสารพิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย เช่น ผึ้ง ต่อ แตน ต่อยบริเวณคอ หน้า ทำให้มีการบวมของเนื้อเยื่อของทางเดินหายใจและหลอดลมมีการหดเกร็ง
- การได้รับยากดศูนย์ควบคุมการหายใจ เช่น มอร์ฟีน ฝิ่น โคเคน บาร์บิทูเรต ฯลฯ
- โรคหัวใจ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดไปเลี้ยงอย่างเฉียบพลัน
- มีการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ และมีภาวะหายใจวายจากสาเหตุต่างๆ
สาเหตุของหัวใจหยุดเต้น
- หัวใจวายจากโรคหัวใจ จากการออกกำลังกายมากเกินปกติ หรือตกใจหรือเสียใจกระทันหัน
- มีภาวะช็อคเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน จากการสูญเสียเลือดมาก ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือมีเลือดมาเลี้ยงไม่เพียงพอ
- ทางเดินหายใจอุดกั้น ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ
- การได้รับยาเกินขนาดหรือการแพ้
ข้อบ่งชี้ในการปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพ
1.ผู้ที่มีภาวะหยุดหายใจ โดยที่หัวใจยังคงเต้นอยู่ประมาณ 2-3 นาที ให้ผายปอดทันที จะช่วยป้องกันภาวะหัวใจหยุดเต้นได้ และช่วยป้องกันการเกิดภาวะเนื้อเยื่อสมองขาดออกซิเจนอย่างถาวร
2.ผู้ที่มีภาวะหยุดหายใจและหัวใจหยุดเต้นพร้อมกัน ซึ่งเรียกว่า clinical death การช่วยฟื้นคืนชีพทันทีจะช่วยป้องกันการเกิด biological death คือ เนื้อเยื่อโดยเฉพาะเนื้อเยื่อสมองขาดออกซิเจน ระยะเวลาของการเกิด biological death หลังจาก clinical death ยังไม่มีใครทราบแน่ชัด แต่โดยทั่วไป มักจะเกิดช่วง 4-6 นาที หลังเกิด clinical death ดังนั้นการปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพจึงควรทำภายใน 4 นาที
ลำดับขั้นในการปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพ
การปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพ ขั้นพื้นฐานประกอบด้วย 3 ขั้นตอนใหญ่สำคัญ คือ A B C ซึ่งต้องทำตามลำดับคือ
A - Airway : การเปิดทางเดินหายใจให้โล่ง
B - Breathing : การช่วยให้หายใจ
C - Circulation : การนวดหัวใจเพื่อช่วยให้เกิดเลือดไหลเวียนอีกครั้ง
1. A : Airway หมายถึง การเปิดทางเดินหายใจให้โล่ง ซึ่งเป็นการปฏิบัติการขั้นแรก ที่ต้องทำอย่างรวดเร็ว เพราะเนื่องจากโคนลิ้นและกล่องเสียงมีการตกลงไปอุดทางเดินหายใจส่วนบนในผู้ป่วยที่หมดสติ ดังนั้นจึงต้องมีการเปิดทางเดินหายใจให้โล่ง โดยการดัดคางขึ้นร่วมกับการกดหน้าผากให้หน้าแหงนเรียกว่า "head tilt chin lift"
1.1 การช่วยจัดทางเดินทางหายใจให้โล่ง และอยู่ในท่าที่จะให้การช่วยเหลือ ซึ่งทำได้โดย
- วางฝ่ามือบนหน้าผากผู้ป่วยและกดลง นิ้วชี้และนิ้วหัวแม่มือพร้อมที่จะเอื้อมมาอุดจมูกเมื่อจะผายปอด มือล่างใช้นิ้วกลางและนั้วชี้เชยคางขึ้น ดังภาพที่ ๑ ซึ่งวิธีนี้จะสามารถใช้ได้ในผู้บาดเจ็บที่มีกระดูกสันหลังส่วนคอหัก
- ใช้มือกดหน้าผากเหมือนวิธีแรก ส่วนมืออีกข้างหนึ่งช้อนใต้คอขึ้นวิธีนี้ทำได้ง่าย แต่ไม่ควรทำในผู้ที่ได้รับบาดเจ็บที่กระดูกสันหลังเพราะจะเกิดอันตรายต่อไขสันหลัง
- ใช้สันมือทั้งสองข้างวางบนหน้าผากกดลง แล้วใช้นิ้วชี้และนิ้วกลางจับกระโดงคาง (Mandible) ของผู้ป่วยขึ้นไปทางข้างหน้า ซึ่งผู้ทำ CPR นั่งคุกเข่าอยู่ทางศีรษะของผู้ป่วย ซึ่งวิธีนี้ทำได้ยาก แต่ช่วยให้ทางเดินหายใจโล่งดี
ถ้าการหยุดหายใจเกิดจากลิ้นตกไปอุดตันทางเดินหายใจผู้ป่วยจะหายใจได้เอง และในขั้นตอนการเปิดทางเดินหายใจนี้ควรใช้เวลา ๔ - ๑๐ วินาที
ภาพ ทางเดินหายใจที่เปิดและปิด
ภาพ head tilt chin lift
ในกรณีที่มีกระดูกสันหลังส่วนคอหัก หรือในรายที่สงสัย ควรใช้วิธี "jaw thrust maneuver" โดยการดึงขากรรไกรทั้งสองข้างขึ้นไปข้างบน ผู้ช่วยเหลืออยู่เหนือศีรษะผู้ป่วย
ภาพ jaw thrust maneuver
2. B : Breathing หมายถึง การช่วยหายใจ เนื่องจากการหายใจหยุด ร่างกายจะมีออกซิเจนคงอยู่ในปอดและกระแสเลือด แต่ไม่มีสำรองไว้ใช้ดังนั้น เมื่อหยุดหายใจ จึงต้องช่วยหายใจ เป็นวิธีที่จะช่วยให้ออกซิเจนเข้าสู่ปอดผู้ป่วยได้ ซึ่งออกซิเจนที่เป่าออกไปนั้นมีออกซิเจนประมาณ 16-17 % ซึ่งเพียงพอสำหรับใช้ในร่างกายการตรวจดูการหายใจ ซึ่งควรใช้เวลาเพียง ๓ - ๕ วินาที ซึ่งทำโดยคุกเข่าลงใกล้ไหล่ผู้ป่วย ผู้ให้การช่วยเหลือเอียงศีรษะดูทางปลายเท้าผู้ป่วย หูอยู่ชิดติดกับปากผู้ป่วยและฟังเสียงลมหายใจผู้ป่วย ตามองดูหน้าอกว่ามีการเคลื่อนไหวหรือไม่หรือใช้แก้มสัมผัสลมหายใจจากผู้ป่วย การหายใจเข้า เป็นการที่ปอดพองตัวรับอากาศภายนอกเข้าทรวงอกจากนั้นปอดจะบีบตัวเอาลมที่ใช้แล้วออกทำให้เห็นทรวงอกเคลื่อนลงเล็กน้อย ซึ่งการขยายขึ้นลงเป็นจังหวะสม่ำเสมอ และนับการหายใจหนึ่งครั้ง ซึ่งการหายใจน้อย (ตื้น) หรือไม่หายใจ จะต้องช่วยการหายใจในทันที โดยการที่ผู้ทำ CPR สูดหายใจเข้าเต็มที่แล้วเป่าเข้าสู่ผู้ป่วยโดย สามารถทำได้หลายวิธี คือ ด้วยการเป่าปาก (mouth to mouth) เป่าจมูก (mouth to nose) และวิธีการกดหลังยกแขนของโฮลเกอร์ - นิลสัน (back pressure arm lift or Holger - Nielson method) ทำได้ดังนี้
2.1 ปากต่อปาก ผู้ทำการช่วยฟื้นคืนชีพควรนั่งข้างใดข้างหนึ่ง ใช้นิ้วชี้และนิ้วหัวแม่มือของข้างที่กดศีรษะ บีบจมูกผู้ป่วยเพื่อไม่ให้อากาศรั่วออกขณะเป่าลมเข้าปาก มือข้างที่ยกคางประคองให้ปากเผยอเล็กน้อย ผู้ทำ CPR สูดหายใจเข้าปอดลึก ๆ ซัก 2-3 ครั้งเข้าเต็มที่ประกบปากครอบปากผู้ป่วยพร้อมเป่าลมเข้าเต็มที่ ด้วยความเร็วสม่ำเสมอประมาณ ๘๐๐ มิลลิลิตรต่อ ๑ ครั้ง เพื่อให้ปอดขยาย ขณะทำการช่วยเลหือควรสังเกตว่าทรวงอกขยายออกแสดงถึงอากาศผ่านเข้าไปได้ดีแล้วรีบถอนปาก รอให้ลมออกจากผู้ป่วย ซึ่งใช้เวลาประมาณ ๑-๑๕ วินาที แล้วเป่าซ้ำ
ภาพ การผายปอดด้วยวิธี Mouth to Mouth
2.2 ปากต่อจมูก การเป่าลมเข้าทางจมูกเป็นวิธีที่ดี กระทำได้เช่นเดียวกับการเป่าปาก ซึ่งในกรณีที่เปิดปากไม่ได้หรือมีแผลที่ปากหรือในเด็กเล็กให้ใช้มือด้านที่เชยคางยกขึ้นให้ปากปิดแล้วเป่าลมเข้าทางจมูกแทนโดยต้องใช้แรงเป่ามากกว่าปากเพราะมีแรงเสียดทานสูงกว่า
ภาพ การผายปอดด้วยวิธี Mouth to Nose
ขณะที่เป่าให้เหลือบมองยอดอกของผู้รับบริการด้วยว่ามีการยกตัวขึ้นหรือไม่ การเป่าลมหายใจของผู้ช่วยเหลือผ่านทางปากหรือจมูก จะต้องทำอย่างช้าๆ ปล่อยปากหรือผู้ช่วยเหลือออกจากปากหรือจมูกของผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยหายใจออก ให้ ผายปอด 2 ครั้ง ๆ ละ 1-1.5 วินาที (แต่ละครั้งได้ออกซิเจน 16 %) อัตราเร็วในการเป่า คือ 12 -15 ครั้ง / นาที ใกล้เคียงกับการหายใจปกติ
การตรวจชีพจรเพื่อประเมินการไหลเวียนโลหิต โดยคลำที่หลอดเลือดใหญ่ที่ตรวจง่าย คือหลอดเลือดแดงคาโรติด (อยู่ทางด้านข้างของลำคอนำเลือดไปเลี้ยงศีรษะ) โดยวางนิ้วโป้งและนิ้วกลางตรงช่องกระหว่างลูกกระเดือกหรือ Thyroid cartilage และกล้ามเนื้อคือ Sternomastoid สังเกต และนับจังหวะการเต้นของหลอดเลือด ถ้ามีชีพจรอยู่ในเกณฑ์ใช้ได้ แต่ไม่หายใจให้ช่วยเฉพาะการหายใจ ถ้าไม่มีชีพจรหรือมีแต่ช้ามาก เบามาก ให้ทำการช่วยการไหลเวียนต่อจากการช่วยหายใจทันทีโดยในการคลำชีพจรไม่ควรใช้เวลาเกินกว่า ๕ วินาที ซึ่งผู้ปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพควรฝึกหัดคลำชีพจนให้ชำนาญ
3. C : Circulation หมายถึง การนวดหัวใจภายนอก ทำในรายที่ประเมินภาวะหัวใจหยุดเต้น โดยการจับชีพที่ carotid artery แล้วไม่พบว่ามีการเต้นของชีพจร ก็จะช่วยให้มีการไหลเวียนของเลือดโดยการกดนวดหัวใจภายนอก (cardiac massage) โดยมีหลักการคือ กดให้กระดูกหน้าอก (sternum) ลงไปชิดกับกระดูกสันหลัง ซึ่งจะทำให้หัวใจที่อยู่ระหว่างกระดูกทั้งสองอัน ถูกกดไปด้วย ทำให้มีการบีบเลือดออกจากหัวใจไปเลี้ยงร่างกาย เสมือนการบีบตัวของหัวใจ
วิธีนวดหัวใจ
1. จัดให้ผู้ป่วยนอนหงายราบ บนพื้นแข็ง ถ้าพื้นอ่อนนุ่มให้สอดไม้กระดานแข็งใต้ลำตัว
2. วัดตำแหน่งที่เหมาะสำหรับการนวดหัวใจ โดยใช้นิ้วชี้และนิ้วกลางข้างที่ถนัด วาดจากขอบชายโครงล่างของผู้ป่วยขึ้นไป จนถึง ปลายกระดูกหน้าอก วัดเหนือปลายกระดูกหน้าอกขึ้นมา 2 นิ้วมือ แล้วใช้สันมือข้างที่ไม่ถนัดวางบนตำแหน่งดังกล่าว และใช้สันมือข้างที่ถนัดวางทับลงไป และเกี่ยวนิ้วมือให้นิ้วมือที่วางทับแนบชิดในร่องนิ้วมือของมือข้างล่าง (interlocked fingers) ยกปลายนิ้วขึ้นจากหน้าอก
3. ผู้ช่วยเหลือยืดไหล่และแขนเหยียดตรง จากนั้นปล่อยน้ำหนักตัวผ่านจากไหล่ไปสู่ลำแขนทั้งสองและลงไปสู่กระดูกหน้าอกในแนวตั้งฉากกับลำตัวของผู้เจ็บป่วยในผู้ใหญ่และเด็กโต กดลงไปลึกประมาณ 1.5 - 2 นิ้ว ให้กดลงไปในแนวดิ่ง และอย่ากระแทก
4. ผ่อนมือที่กดขึ้นให้เต็มที่เพื่อให้ทรวงอกมีการขยายตัว และหัวใจได้รับเลือดที่อุดมไปด้วยออกซิเจน ขณะที่ผ่อนมือไม่จำเป็นต้องยกมือขึ้นสูง มือยังคงสัมผัสอยู่ที่กระดูกหน้าอก อย่ายกมือออกจากหน้าอก จะทำให้มีเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ในร่างกาย และมีเลือดไหลกลับเข้าสู่หัวใจ ทำให้มีการไหลเวียนเลือดในร่างกาย
5. การกดนวดหัวใจจะนวดเป็นจังหวะสม่ำเสมอ ในอัตราเร็ว 100 ครั้ง/นาที ถ้าน้อยกว่านี้จะไม่ได้ผล
การส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลเป็นสิ่งที่สำคัญ ควรนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้และต้องเฝ้าประเมินสังเกตภาวะการเปลี่ยนแปลงของผู้ป่วยตลอดเวลา ในกรณีที่ต้องทำ CPR ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ควรติดตามผลโดยการหยุดทำ CPR เพื่อจับชีพจรทุก ๒ - ๓ นาที และไม่ว่าโดยเหตุผลใด ๆ ไม่ควรหยุดทำ CPR เกินกว่า ๕ วินาที ยกเว้นถ้าท่านเป็นผู้ทำ CPR เพียงคนเดียวและจำเป็นต้องโทรศัพท์เรียกรถพยาบาลมาช่วย
ตำแหน่งการวางมือ
ผู้ให้การช่วยฟื้นคืนชีพจะต้องใช้สันมือ (Heel of Hand) ข้างหนึ่งวางบนกระดูกหน้าอกโดยให้อยู่เหนือลิ้นปี่ประมาณ ๓ เซนติเมตร หรือสองนิ้วมือซึ่งกระทำโดยใช้นิ้วชี้และนิ้วกลางวางทาบลงบนกระดูกหน้าอก ให้นิ้วกลางอยู่ชิดลิ้นปี่ แล้วใช้สันมืออีกข้างหนึ่งวางทับลงไปโดยไม่ใช้ฝ่ามือแตะหน้าอกและเมื่อวางถูกตำแหน่งแล้วไม่ควรยกขึ้นหรือเคลื่อนที่ ซึ่งพบได้บ่อยในการฝึกปฏิบัติและทำให้การทำ CPR ไม่ได้ผลดี
ภาพ แสดงการวัดตำแหน่ง และการกดนวดหัวใจภาย
อันตรายของการทำ CPR ไม่ถูกวิธี
1. วางมือผิดตำแหน่ง ทำให้ซี่โครงหัก , xiphoid หัก , กระดูกที่หักทิ่มโดนอวัยวะสำคัญ เช่น ตับ ม้าม เกิดการตกเลือดถึงตายได้
2. การกดด้วยอัตราเร็วเกินไป เบาไป ถอนแรงหลังกดไม่หมด ทำให้ปริมาณเลือดไปถึงอวัยวะต่างๆ ที่สำคัญได้น้อย ทำให้ขาดออกซิเจน
3. การกดแรงและเร็วมากเกินไป ทำให้กระดูกหน้าอกกระดอนขึ้น ลงอย่างรวดเร็ว หัวใจช้ำเลือดหรือกระดูกหักได้
4. การกดหน้าอกลึกเกินไป ทำให้หัวใจชอกช้ำได้
5. การเปิดทางเดินหายใจไม่เต็มที่ เป่าลมมากเกินไป ทำให้ลมเข้ากระเพาะอาหาร เกิดท้องอืด อาเจียน ลมเข้าปอดไม่สะดวก ปอดขยายตัวไม่เต็มที่ ถ้ามีอาการอาเจียนเกิดขึ้นก่อน หรือ ระหว่างการทำ CPR ต้องล้วงเอาเศษอาหารออกก่อน มิฉะนั้นจะเป็นสาเหตุของ การอุดตันของทางเดินหายใจ (airway obstruction) การช่วยหายใจไม่ได้ผล เกิดการขาดออกซิเจน ถ้ามีอาการท้องอืดขึ้น ระหว่างการทำ CPR ให้จัดท่าเปิดทางเดินหายใจใหม่ และช่วยการหายใจด้วยปริมาณลมที่ไม่มากเกินไป
ขอขอบคุณภาพและข้อมูลที่มา http://www.mhhos.com
ระบบประสาท
ระบบประสาทในร่างกายมนุษย์ประกอบด้วย เซลล์ประสาทซึ่งมีชื่อเรียกเฉพาะว่า neuron เซลล์ประสาทนี้มีลักษณะสำคัญซึ่งแตกต่างจากเซลล์ชนิดอื่นๆ ในร่างกาย คือมีแขนงยื่นยาวออกจากตัวเซลล์ แขนงดังกล่าวแบ่งได้เป็น ๒ พวกคือ dendrite และ axon แขนงทั้งสองพวกนี้มีข้อแตกต่างที่สำคัญตามหน้าที่คือ เดนไดรต์ทำหน้าที่นำ "ข่าว" หรือ "คำสั่ง" จากภายนอกเข้าไปในเซลล์ ส่วนแอกซอนทำหน้าที่ตรงกันข้าม คือนำ "ข่าว" หรือ "คำสั่ง" ออกไปจากตัวเซลล์ประสาทในร่างกายมนุษย์ประกอบด้วยเซลล์ประสาทมากมาย มีผู้คำนวณว่ามีอยู่ถึงประมาณ 30 หมื่นล้านตัว แต่ละตัวยังต้องติดต่อกับตัวอื่นๆ ซึ่งอาจมากถึง 60,000 ตัว บริเวณที่ติดต่อกันหรือจับกันเรียกว่า จุดประสาน (synapes)
ระบบประสาทอาจแบ่งเป็นส่วนใหญ่ๆ ได้ 2 ส่วน คือ
1. ระบบประสาทกลาง คือสมองและไขสันหลังซึ่งประกอบด้วยตัวเซลล์ประสาทส่วนใหญ่
2. ระบบประสาทนอก คือเส้นประสาทที่อยู่นอกสมองและไขสันหลัง ประกอบด้วยเดนไดรต์และแอกซอนทั้งสิ้นไม่มีตัวเซลล์อยู่เลย
หน้าที่ของประสาทที่จะกล่าวต่อไปหมายถึงหน้าที่ของใยประสาท (nerve fiber) ซึ่งเป็นเดนไดรต์ หรือแอกซอนของเซลล์ประสาท หน้าที่สำคัญคือ การนำ "ข่าว" หรือ "คำสั่ง" โดยรวดเร็วจากแห่งหนึ่งไปยังอีกแห่ง อาจนำเข้าสู่ หรือออกจากระบบประสาทกลาง "ข่าว" หรือ "คำสั่ง" ดังกล่าวอาจนำไปโดยรวดเร็วมากถึง 100 เมตร/วินาที ซึ่งเทียบได้กับความเร็ว 360 กิโลเมตร/ชั่วโมง ถ้าเทียบกับขนาดความเร็วของรถแข่ง หรืออาจนำไปช้าเพียง 1 เมตร/วินาที ซึ่งเทียบได้กับความเร็ว 3.6 กิโลเมตร/ชั่วโมง ถ้าเทียบกับขนาดความเร็วของคนเดิน
เส้นประสาทและวงจรรีเฟล็กซ์ แสดงระบบประสาทกลาง และระบบประสาทนอก เริ่มตั้งแต่เส้นประสาทรับสัมผัสถูกกระตุ้นที่ผิวหนังแล้วส่งสัญญาณประสาทไปยังไขสันหลังและเส้นประสาทยนต์จนถึงอวัยวะแสดงผล (กล้ามเนื้อลาย)
ประสาททำงานโดยทำให้เกิดพลังประสาทขึ้นแล้วแผ่ออกไป พลังประสาทจึงเป็นรหัสข่าวสาร (coding of information)ซึ่งเปรียบได้กับการส่งรหัสโทรเลขนั่นเอง หากแต่มีวิธีการและรายละเอียดแตกต่างออกไป พลังประสาทส่งออกไปในรูปศักย์ไฟฟ้า ซึ่งประสาทเส้นหนึ่งจะมีศักย์ไฟฟ้าเท่ากันตลอด ฉะนั้นประสาทจึงไม่สามารถส่งข่าวบอกความมากน้อยด้วยการเปลี่ยนความสูงต่ำของศักย์ไฟฟ้า แต่ประสาทบอกความมากน้อยด้วยการเปลี่ยนแปลงความถี่ของพลังประสาท (frequency of nerve impulse)คือเมื่อมีการกระตุ้นแรง ประสาทจะส่งพลังประสาทถี่มาก ในทางตรงกันข้าม เมื่อมีการกระตุ้นค่อย ความถี่ก็น้อย วิธีที่ร่างกายใช้นี้เรียกว่า การแปลงความถี่ (frequency modulation, F.M.) ซึ่งเป็น วิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้กันแพร่หลายในระบบโทรคมนาคม เช่น การส่งคลื่นวิทยุ เป็นต้น ความถี่ที่ประสาทสามารถใช้ได้นั้นถูกจำกัด โดยระยะดื้อของเส้นประสาท อย่างไรก็ดี ประสาทเส้นใหญ่จะสามารถฟื้นตัวจากระยะดื้อได้ในเวลาเพียง 1 มิลลิเสก(millisecond) ความถี่ที่อาจจะใช้ได้จึงใกล้ 1,000 ครั้ง/วินาที แต่ตามความเป็นจริง ความถี่ที่ร่างกายใช้นั้นต่ำกว่านี้มากเช่น ประสาทยนต์ (motor nerve)ซึ่งมีหน้าที่ส่งคำสั่งให้กล้ามเนื้อหดตัว เพียงเพิ่มความถี่ของพลังประสาทไม่เกิน 50 ครั้ง/วินาที ก็สามารถทำให้กล้ามเนื้อทำงานได้ถึงระดับสูงสุด
รีเฟล็กซ์ (Reflex)
รีเฟล็กซ์ คือการตอบสนองที่อยู่นอกอำนาจจิตใจ รีเฟล็กซ์เป็นตัวอย่างการทำงานอีกชั้นหนึ่งของระบบประสาทที่ต้องอาศัยการทำงานร่วมกันของเซลล์ประสาท เช่น เมื่อปลายนิ้วมือไปแตะถูกวัตถุที่มีความร้อนเข้า ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นคือ ดึงแขนเข้าหาตัวหนีออกมาจากวัตถุนั้น หรืออาจขยับตัวหนีออกมาด้วย ต่อมาจึงเกิดความรู้สึก ปวด ร้อน ที่นิ้วมือและนึกลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นการงอแขนหรือขยับตัวหนีออกมาเป็นการสนองของรีเฟล็กซ์ ซึ่งไม่อยู่ในอำนาจจิตใจ แต่ความรู้สึก ปวด ร้อน และการลำดับเหตุการณ์ เป็นการทำงานของสมองที่อยู่ในอำนาจจิตใจไม่ใช่รีเฟล็กซ์
จะเห็นว่าหน้าที่และประโยชน์ของรีเฟล็กซ์ที่ยกตัวอย่างมานี้เป็นการป้องกันและหลีกเลี่ยงอันตรายซึ่งทำงานโดยรวดเร็ว ไม่เสียเวลามาก
ลักษณะทางกายวิภาคศาสตร์ของรีเฟล็กซ์
รีเฟล็กซ์เป็นการทำงานของวงจรประสาท (reflex arc)ซึ่งอาจแบ่งเป็นส่วนต่างๆ ได้ ดังนี้
1. เครื่องรับ (receptor) เป็นอวัยวะที่รับการกระตุ้น เช่น จากตัวอย่างข้างต้น เครื่องรับในผิวหนังบริเวณนิ้วมือรับการกระตุ้นจากวัตถุที่มีความร้อน เครื่องรับนี้อาจอยู่ภายนอกหรือภายในร่างกายก็ได้
2. ประสาทนำเข้า (afferent pathway)เป็นทางนำ "คำสั่ง" หรือ "ข่าว" จากเครื่องรับเข้าไปยังศูนย์รีเฟล็กซ์ รีเฟล็กซ์ที่ยกตัวอย่างข้างต้นนั้นมีประสาทนำเข้าเป็นประสาทรับสัมผัสซึ่ง เป็นแขนงของประสาทมีเดียน (median nerve)
3. ศูนย์รีเฟล็กซ์ (reflex center) เป็นที่รวม "ข่าว"หรือ "คำสั่ง" ต่างๆ จากประสาทนำเข้าเพื่อส่งออกไปที่ศูนย์อาจมีเซลล์ประสาทเชื่อมกลาง (central neuron) ซึ่งช่วยให้การทำงานละเอียดและกว้างขวางขึ้น
4. ประสาทนำออก (efferent pathway) เป็นประสาทที่ทำหน้าที่นำ "ข่าว" หรือ "คำสั่ง" ออกจากศูนย์รีเฟล็กซ์ สู่อวัยวะแสดงผล ประสาทนำออกของรีเฟล็กซ์ ได้แก่ ประสาทยนต์ซึ่งเป็นแขนงของประสาทหลายเส้นที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อของแขน
5. อวัยวะแสดงผล (effector organ) จากตัวอย่างที่ยกมา อวัยวะแสดงผล ได้แก่ กล้ามเนื้อของแขน
ชนิดของรีเฟล็กซ์
อาจแบ่งรีเฟล็กซ์ออกเป็นชนิดต่างๆ ได้หลายวิธี ดังนี้
1. ตามระยะเวลาของการเกิด
ก) มีมาแต่กำเนิด (inborn reflex)รีเฟล็กซ์ที่ดึงแขนหนีมาจากการที่นิ้วมือสัมผัสกับวัตถุที่ร้อน หรือรีเฟล็กซ์ ที่ช่วยปรับความดันเลือดให้ปกติ ทั้ง 2 ชนิดนี้ทำงานได้ตั้งแต่เกิด ไม่ต้องฝึกหัด
ข) เกิดจากการฝึก (acquired หรือ conditioned reflex) ตัวอย่างในเรื่องนี้ ได้แก่ การเหยียบห้ามล้อ เมื่อมีสิ่งกีดขวางอยู่ข้างหน้า (สำหรับผู้ที่ขับรถเป็น)
2. ตามจำนวนของเซลล์ประสาทในวงจร
ก) รีเฟล็กซ์ที่มีจุดประสานจุดเดียว (monosynaptic reflex) รีเฟล็กซ์ชนิดนี้ประกอบด้วยเซลล์ประสาทเพียงสอง ตัวมาต่อกัน ได้แก่ รีเฟล็กซ์ที่ช่วยปรับการทรงตัวของร่างกาย เมื่อกล้ามเนื้อถูกยึด (stretch reflex)
ข) รีเฟล็กซ์มีจุดประสาน 2 จุด (disynaptic reflex) ได้แก่ รีเฟล็กซ์ที่เกิดจากเอ็นของกล้ามเนื้อถูกยึด (Golgitendon reflex)
ค) รีเฟล็กซ์ที่มีจุดประสานหลายจุด (polysynaptic reflex) ได้แก่ รีเฟล็กซ์ที่เกิดจากเอ็นของกล้ามเนื้อถูกยึด
3. ตามชนิดของประสาท
ก) รีเฟล็กซ์กาย (somatic reflex) วงจรรีเฟล็กซ์ ประกอบด้วยระบบประสาทกาย เช่น รีเฟล็กซ์ดึงเท้าหนีออกมา
ข) รีเฟล็กซ์อัตบาล (autonomic reflex) วงจรใช้ระบบประสาทอัตบาล โดยมากเกี่ยวข้องกับการทำงานภายในร่างกาย เช่น รีเฟล็กซ์ปรับความดันเลือดให้ปกติ
รีเฟล็กซ์ที่แบ่งตามชนิดของประสาทนี้อาจแบ่งตามชนิดของประสาทได้คือ รีเฟล็กซ์ที่ใช้ประสาทสมองเป็นรีเฟล็กซ์สมอง (cranial reflex) รีเฟล็กซ์ที่ใช้ประสาทไขสันหลังเป็นรีเฟล็กซ์ไขสันหลัง (spinal reflex) เป็นต้น
4. ตามตำแหน่งของเครื่องรับ การแบ่งแบบนี้นำไปใช้เป็นประโยชน์ในทางคลินิก ซึ่งแบ่งเป็นดังนี้
ก) รีเฟล็กซ์ตื้น (superficial reflex) คือ รีเฟล็กซ์ ที่มีเครื่องรับอยู่ภายนอก เช่น ผิวหนัง ตัวอย่างที่ดีของรีเฟล็กซ์ตื้น ได้แก่ รีเฟล็กซ์เมื่อเหยียบหนาม
ข) รีเฟล็กซ์ลึก (deep reflex) รีเฟล็กซ์พวกนี้มีเครื่องรับรู้ลึกเข้าไป เช่น รีเฟล็กซ์เมื่อกล้ามเนื้อถูกยึด เครื่องรับอยู่ในกล้ามเนื้อ
ค) รีเฟล็กซ์อวัยวะภายใน (visceral reflex)เครื่องรับอยู่ในอวัยวะภายใน เช่น รีเฟล็กซ์ปรับความดันเลือดมีเครื่องรับอยู่ในผนังหลอดเลือดแดงคาโรติด เห็นได้ว่ารีเฟล็กซ์หนึ่งรีเฟล็กซ์ใดอาจจัดอยู่ในพวกใดก็
ได้ตามวิธีการแบ่ง รีเฟล็กซ์ในคนส่วนใหญ่ต้องใช้เซลล์ประสาทหลายตัว จึงจัดอยู่ในพวกที่มีจุดประสานหลายจุด มีส่วนน้อยที่มีหนึ่ง หรือ สองจุด รีเฟล็กซ์เหล่านี้มีมากมายเกี่ยวข้องกับการทำงานในร่างกายทุกระบบ
หน้าที่ของรีเฟล็กซ์
๑) เป็นขั้นต้นและขั้นกลางของระบบประสาทช่วยแบ่งเบาภาระหน้าที่ของระบบประสาท ซึ่งยุ่งยากและซับซ้อนมาก โดยแยกทำเป็นส่วนๆ อาจใช้วงจรง่ายๆ จนถึงขั้นยุ่งยากมาก เช่น รีเฟล็กซ์ที่เกิดจากการฝึก ร่างกายมีงานที่ต้องทำ
อยู่ตลอดเวลามากมายหลายอย่าง การทำงานแบบรีเฟล็กซ์จึงช่วยรับภาระไปแต่ละอย่าง และรีเฟล็กซ์บางอย่างต้องทำงานอยู่ตลอดเวลาไม่มีหยุด ถ้าต้องใช้การตัดสินใจซึ่งต้องการสมองส่วนที่อยู่ในอำนาจจิตใจมาใช้จะทำไม่ได้ เพราะจะคิดหรือตัดสินใจได้เพียงเรื่องเดียวในขณะเดียว เช่น รีเฟล็กซ์ที่รักษาความดันเลือดให้ปกติอยู่เสมอ หรือรีเฟล็กซ์ที่ช่วยการทรงตัวของร่างกาย
๒) ช่วยให้งานนั้นๆ สำเร็จโดยเร็ว ทันท่วงที เช่น รีเฟล็กซ์เกี่ยวกับการเหยียบหนาม ถ้าทำได้ช้าก็อาจเกิดอันตรายมากขึ้นได้ หรือรีเฟล็กซ์ที่เกี่ยวกับการทรงตัวของกล้ามเนื้อที่ถูกยึด ถ้าทำช้าไปตัวอาจล้มไปเสียก่อน
หน้าที่ของระบบประสาทกลาง
ระบบประสาทในร่างกายมีการทำงานที่ยุ่งยากมาก สามารถรับ "ข่าว" ได้นับเป็นพันๆ ชนิดเข้าไปประสานในระบบประสาทกลาง แล้วจึงแสดงการสนองออกมาภายนอก การทำงานของระบบประสาทกลางอาจแบ่งเป็นพวกใหญ่ๆ ได้ 3 พวก คือ
1. หน้าที่รับสัมผัส (sensory and perceptual function)
2. หน้าที่ทางด้านยนต์ (motor and psychomotor function)
3. หน้าที่ทางด้านจิตใจและหน้าที่ขั้นสูง (psychic and higher function)
อย่างไรก็ดี การทำงานแต่ละส่วนมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด
ระบบประสาทรับสัมผัส
งานส่วนใหญ่ของระบบประสาทนี้ได้มาจากประสบการณ์ของการรับสัมผัส จากการที่เครื่องรับ (receptor) ถูกกระตุ้นซึ่งอาจจะเป็นเครื่องรับที่อาศัยการเห็น การได้ยิน การสัมผัส หรือเครื่องรับชนิดอื่นๆ ประสบการณ์ของสัมผัสเช่นนี้อาจทำให้มีปฏิกิริยาโต้ตอบออกมาโดยทันทีหรือจะเก็บเป็นความจำไว้เป็นนาที ชั่วโมง หรือเป็นแรมปี เพื่อจะนำมาใช้ช่วยเหลือปฏิกิริยาโต้ตอบของร่างกายในอนาคต การทำงานของระบบประสาทสัมผัส มีขั้นตอนโดยย่อดังนี้คือ พลังประสาทจากเครื่องรับส่งเข้าไปใน
(1) ไขสันหลังทุกระดับ (2) เรติคูลาร์ฟอร์เมชัน (reticular formation)ของก้านสมอง (brain stem) (3) สมองน้อย (4)ทาลามัส (thalamus) และ (5)เปลือกสมองใหญ่ส่วนรับสัมผัส (sensory cortex)
หน้าที่ของระบบประสาทรับสัมผัส
หน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งของระบบประสาท คือ หน้าที่ในการรับสัมผัสที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทั้งที่อยู่ภายในร่างกาย (internal environment)และที่อยู่ภายนอกร่างกาย (external environment) ทำให้ร่างกายรับรู้แล้วจึงมีปฏิกิริยาโต้ตอบหรือแก้ไขด้วยวิธีการที่เหมาะสมต่อไป ความรู้สึกส่วนหนึ่งจะทำให้ระบบประสาทรับรู้แล้วเก็บไว้เป็นความทรงจำ
การเปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อมนั้นเป็นไปในรูปของพลังงานหลายอย่าง จึงต้องมีเครื่องรับการเปลี่ยนแปลงของภาวะแวดล้อมที่มากระตุ้นเครื่องรับนั้น หลังจากนั้น "กระแสข่าว" ที่เกิดจากการกระตุ้นจะส่งไปตามทางเดินประสาทรับสัมผัส (Sensory pathway)ขึ้นไปยังศูนย์ประสาทสัมผัส (sensory center)ในสมอง
ระบบประสาทรับสัมผัส อาจแบ่งได้เป็น 2 พวกใหญ่ๆ คือ
1. ระบบรับสัมผัสภายนอก
2. ระบบรับสัมผัสภายใน
1. ระบบรับสัมผัสภายนอก ได้แก่
ก. ระบบกายสัมผัสทั่วไป (somatosensory system)เป็นระบบประสาทสัมผัสของร่างกาย ประกอบด้วยระบบรับสัมผัสเฉพาะอย่าง แต่มีเครื่องรับอยู่ทั่วร่างกาย แบ่งได้เป็นการรับสัมผัสแตะต้อง (touch sensation) เจ็บ (pain sensation) ร้อนwarmth sensation) และเย็น (cold sensation)
ข. ระบบรับสัมผัสจำเพาะ (special sensory system)มีอวัยวะรับสัมผัสเฉพาะอย่าง แบ่งได้เป็น 5 อย่างด้วยกัน คือ
1. ระบบการเห็น (visual system)
2. ระบบการได้ยิน (auditory system)
3. ระบบการรับรส (gustatory system)
4. ระบบการรับกลิ่น (olfactory system)
5. ระบบการทรงตัว (vestibular system)
2. ระบบรับสัมผัสภายใน มีเครื่องรับอยู่ในอวัยวะภายในต่างๆ เช่น ในกระเพาะอาหาร ในหลอดเลือด เป็นต้น
ระบบประสาทยนต์
การทำงานของระบบนี้เป็นระบบที่สำคัญมากอีกระบบหนึ่ง มีขอบเขตการทำงานกว้างขวาง คือ ต้องควบคุมการทำงาน ของอวัยวะหลายพวก ได้แก่
(1) การทำงานของกล้ามเนื้อลายทั่วร่างกาย
(2) การทำงานของกล้ามเนื้อเรียบของอวัยวะภายใน
(3) การคัดหลั่งของต่อมต่างๆ ในร่างกาย อวัยวะต่างๆ
ดังกล่าวเป็นอวัยวะแสดงผล (effector organ) ระบบประสาทยนต์ โดยย่อประกอบด้วย ระบบประสาทกลางส่วนต่างๆ รวมทั้ง (1) ไขสันหลัง (2) ก้านสมอง (3) เบซัลแกงเกลีย (basalganglia) และ (4) เปลือกสมองใหญ่ส่วนยนต์ (motor cortex)สมองบริเวณต่างๆ ดังกล่าวมีบทบาทเฉพาะในการควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย
ระบบประสาทกลางส่วนล่างเกี่ยวกับการสนองของร่างกายต่อการกระตุ้นระบบประสาทสัมผัสโดยอัตโนมัติ ส่วนระบบประสาทกลางส่วนบนเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวที่ละเอียดอ่อนและควบคุมโดยระบบความคิดของสมองใหญ่
ระบบประสาทขั้นสูง
นอกเหนือจากหน้าที่ของระบบประสาทกลางทางด้านประสาทสัมผัสและประสาทยนต์แล้ว สมองยังมีหน้าที่อีกหลายอย่าง ซึ่งมีการทำงานสลับซับซ้อนมาก จัดอยู่ในพวกหน้าที่สมองขั้นสูงซึ่งจะกล่าวถึง โดยย่อดังต่อไปนี้
(1) ไฮโปทาลามัส (hypothalamus) มีหน้าที่หลายอย่าง เช่น ควบคุมการทำงานของระบบประสาทอัตบาล ควบคุมการทำงานของต่อมไร้ท่อ มีบทบาททางด้านพฤติกรรม ควบคุมการทำงานของอวัยวะภายในและเมแทบอลิซึมหลายอย่าง|
(2) ระบบประสาทลิมบิก (limbic) ซึ่งประกอบด้วยเปลือกสมองใหญ่ทางด้านหน้า ล้อมรอบส่วนของสมองที่มีไฮโปทาลามัสซึ่งอยู่ในใจกลาง ระบบประสาทนี้ทำหน้าที่เกี่ยวกับพฤติกรรมต่างๆ ของร่างกาย
(3) หน้าที่เกี่ยวกับการเก็บความจำของร่างกาย ต้องอาศัยการประสานงานของสมองหลายส่วน ทำให้สมองมีความสามารถเก็บความจำไว้ได้มากมาย และเก็บอยู่ได้เป็นเวลานาน
(4) ความมีสติ (consciousness) ของร่างกาย อาศัยการประสานงานของสมองหลายส่วน แต่ที่สำคัญคือ ต้นตอของความมีสติอยู่ที่ส่วนของสมองที่เรียกว่า เรติคูลาร์ฟอร์เมชัน ซึ่งอยู่ที่บริเวณก้านสมอง
(5) การออกเสียงและการพูด การพูดนอกจากจะอาศัยการทำงานของระบบประสาทที่ควบคุมกล้ามเนื้อของระบบการหายใจ กล้ามเนื้อของกล่องเสียง คอ ช่องปาก และลิ้นแล้วยังต้องอาศัยศูนย์ประสาทที่เกี่ยวกับการพูดซึ่งอยู่ที่เปลือกสมองใหญ่อีก ๒ แห่งคือ ศูนย์สั่งการพูด (expressive speech centre)ทำหน้าที่สร้างคำพูด และศูนย์รับการพูด (receptive speech centre)ซึ่งทำหน้าที่รับและเข้าใจความหมายของคำพูด
คำถาม
1. จังหวะชะชะช่า มีการนับจังหวะอย่างไร?
2. จงบอกวิธีนวดหัวใจ?
3. ทางเดินหายใจอุดตันเกิดจากสาเหตุใดบ้าง?
4. ระบบสัมผัสภายนอก มีอะไรบ้าง?
5. รีเฟลกซ์คืออะไร และ มีผลต่อระบบประสาทอย่างไรบ้าง?
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)